พัฒนาการทางวัฒนธรรม-สังคมในมุมมองวิวัฒนาการนิยม
เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้เน้นที่ทฤษฎีวิวัฒนาการนิยม (Evolutionism) โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญยิ่งในสาขาวิชามานุษยวิทยา เพราะนอกจากจะทำให้นิสิตนักศึกษาและผู้ที่สนใจในเรื่องนี้เข้าใจคำนิยามของวัฒนธรรมในมุมมองต่างๆ แล้ว ยังทำให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของนักคิดทางมานุษยวิทยาในแต่ละยุคสมัยว่ามีที่มาอย่างไร เหตุใดจึงมีความเห็นคล้ายคลึงและแตกต่างกัน อะไรคือประเด็นสำคัญของการอภิปราย รวมถึงการประยุกต์แนวความคิดนี้ในหมู่นักคิดรุ่นหลังในการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับประเภทของสังคม การอภิปรายเริ่มด้วยกำเนิดของทฤษฎีวิวัฒนาการนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งส่งผลให้เกิดแนวความคิดเรื่องวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม แม้ว่าทฤษฎีนี้จะถูกวิพากษ์ว่าแฝงไว้ด้วยอคติแห่งความเชื่อของผู้คนในยุโรปในสมัยวิกตอเรีย แต่ก็มีคุณูปการในการจุดประกายความคิดในการค้นหาความรู้เรื่องวัฒนธรรมและผู้คนกลุ่มต่างๆ นอกทวีปยุโรป มาจนถึงนักคิดในสกุลวิวัฒนาการนิยมแนวใหม่ (Neo-Evolutionism) ซึ่งมีจุดเด่นที่ความพยายามในการใช้หลักการแบบวิทยาศาสตร์ อันเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้แตกต่างไปจากนักคิดวิวัฒนาการนิยมแนวเก่านอกจากนี้นักคิดคนสำคัญ เช่น Marvin Harris ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ถูกจัดเป็นนักคิดในสกุลวิวัฒนาการนิยมโดยตรง แต่ข้อเสนอของแฮร์ริก็มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เกิดพัฒนาการของแนวคิดและสมมติฐานต่างๆ ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์ การใช้วัตถุหรือทรัพยากร และความสำคัญด้านนิเวศวิทยา ประเด็นที่ดูจะสำคัญที่สุดคือการที่นักมานุษยวิทยาทั้งสองแนวในสกุลนี้ได้พยายามประยุกต์ทฤษฎีวิวัฒนาการนิยมเพื่อใช้อธิบายพัฒนาการทางวัฒนธรรมและสังคม โดยเฉพาะนักคิดในสกุลวิวัฒนาการนิยมแนวใหม่บางคนที่พยายามสร้างกรอบทฤษฎีใหม่ที่สามารถใช้อธิบายวัฒนธรรมโดยทั่วไป
031703 | GN 360 น6พ2554 | ห้องสมุดสถาบันธรรมชัย (อาคาร 2 ชั้น 4) (ตู้ 7 ชั้น 12) | พร้อมให้บริการ |
No other version available