วารสารธรรมธารา ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (2015): (ฉบับรวมที่ 1) มกราคม-ธันวาคม
การศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาระดับสูง แบ่งได้เป็น 2 แนวใหญ่ ๆ คือ
1. การศึกษาวิจัยเชิงคัมภีร์ (Documentary Research) เป็นการศึกษาค้นคว้าโดยอาศัยแหล่งข้อมูลสำคัญคือ คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาปกรณ์วิเสส รวมถึงคัมภีร์พระพุทธศาสนาของนิกายอื่น ๆ และบันทึกประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อ
2. การศึกษาวิจัยภาคสนาม (Field Research) เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสังคมวิทยาโดยศึกษาความสัมพันธ์ของคำสอน หลักปฏิบัติต่าง ๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ พฤติกรรมของบุคคลหรือสังคมที่เกี่ยวข้อง มีการออกแบบสอบถามสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย นำผลมาวิเคราะห์ในทางสถิติ
การศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยก่อน จะเป็นการศึกษาตามจารีตเป็นหลัก คือ ศึกษาทำความเข้าใจคำสอนในคัมภีร์ เพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส มุ่งสู่หนทางพระนิพพาน
ส่วนการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาสมัยใหม่นั้น เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยนักวิชาการสมัยใหม่ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ ที่ได้รับการศึกษาระเบียบวิธีวิจัยสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แนวโน้มส่วนใหญ่จะออกมเป็นการวิจัยภาคสนาม ผลงานการศึกษาวิจัยเชิงคัมภีร์มีค่อนข้างน้อยและมักอาศัยหลักฐานจากคัมภีร์บาลีเป็นหลักเท่านั้น มีน้อยมากที่จะใช้หลักฐานจากคัมภีร์พุทธในภาษาจีน ทิเบต สันสกฤต และภาษาอื่น ๆ ประกอบ ทั้งนี้อาจเป็นด้วยอุปสรรคทางด้านภาษา
ระเบียบวิธีวิจัยพระพุทธศาสนาสมัยใหม่นั้นบุกเบิกขึ้นโดยนักวิชาการตะวันตกเมื่อราว 200 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่มีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะในยุคอาณานิคมที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย ศรีลังกาและพม่า ซึ่งต่อมานักวิชาการตะวันออกก็ได้ไปศึกษาเรียนรู้วิธีการศึกษาวิจัยแบบนี้จากประเทศตะวันตก
เริ่มจากญี่ปุ่นมีการส่งนักวิชาการไปศึกษาในยุโรปตั้งแต่ประมาณ 120 ปีก่อนและได้กลับมาเปิดสำนักวิจัยพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยโตเกียว สร้างนักวิชาการรุ่นใหม่อย่างเป็นระบบ มีผลงานการวิจัยที่โดดเด่นจำนวนมาก นักวิชาการจากไต้หวัน เกาหลี จีน ส่วนใหญ่ก็มาศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อินเดีย ศรีลังกา ศึกษาจากยุโรป เพราะเป็นอาณานิคม ส่วนนักวิชาการจากไทยส่วนใหญ่จะไปศึกษาจากอินเดีย ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี จะมีข้อได้เปรียบ คือ ความสามารถในการอ่านคัมภีร์พุทธที่เป็นภาษาจีนโบราณ นักวิชาการอินเดีย ศรีลังกาจะมีข้อได้เปรียบอีกแบบหนึ่ง คือ ภาษาแม่ของตนมีรากที่มาเดียวกันกับภาษาบาลีและ ภาษาสันสกฤต ทำให้เรียนรู้ได้ง่าย ส่วนนักวิชาการชาวไทยและประเทศเถรวาทแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีพื้นฐานการคิดวิเคราะห์หลักธรรมที่ดี หากทุ่มเทศึกษาจริงจังก็จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการค้นคว้าวิจัย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการศึกษาพระพุทธศาสนาตามจารีตแบบเถรวาท (วิภัชชวาทิน) ซึ่งมีการคิดวิเคราะห์จำแนกธรรมเป็นปกติอยู่แล้ว ทำให้ซึมซับวิธีการเหล่านี้เข้ามาอย่างเป็นธรรมชาติ
นักวิชาการพุทธชาวตะวันตกนั้นมีจำนวนน้อย เพราะประเทศเหล่านี้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอื่น ผู้ที่สนใจมาศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาจึงมีจำนวนไม่มากแต่ผู้ที่มาศึกษาก็มักเอาจริง ทุ่มเทค้นคว้าตลอดชีวิต ส่วนใหญ่จึงมีทักษะภาษาที่ดีรู้ภาษาคัมภีร์หลายภาษา เช่น บาลี สันสกฤต จีน ทิเบต คานธารี เป็นต้น และมีทักษะการวิจัยที่ดี ทำให้มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง
ในสหรัฐอเมริกายุคสงครามเวียดนาม รัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยหลายแห่งในการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนา เพื่อจะนำองค์ความรู้มาใช้ในการศึกสงคราม และเพื่อเอาชนะใจประชาชนในเอเชีย เพราะรู้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรม ประเพณี ความคิดความเชื่อที่สำคัญยิ่งของชาวเอเชียโดยทั่วไป การวิจัยส่วนใหญ่จึงเป็นการวิจัยภาคสนามเชิงสังคมวิทยาสหรัฐอเมริกาจึงเด่นในด้านการวิจัยภาคสนาม ส่วนยุโรปเด่นในด้านการวิจัยเชิงคัมภีร์
ประเทศญี่ปุ่นมีจุดเด่นคือ ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาและมีมาตรฐานการศึกษาสูง ปัจจุบันญี่ปุ่นมีนักวิชาการพระพุทธศาสนาจำนวนมากที่สุดในโลก มีผู้ที่ศึกษาถึงระดับปริญญาเอกทางพระพุทธศาสนากว่า 3,000 คน มีสมาคมวิชาการทางพระพุทธศาสนานับสิบแห่ง วารสารทางวิชาการพุทธบางฉบับต้องจำกัดเนื้อที่ให้นักวิจัยแต่ละคนเขียนได้ไม่เกิน 3 หน้า เพราะมีผู้ส่งบทความวิชาการปีละกว่า 300 คน แม้นักวิชาการญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเชี่ยวชาญพุทธมหายานและวัชรยานแต่ผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาเถรวาทในญี่ปุ่นก็มีจำนวนไม่น้อย ถึงขนาดสามารถ ตั้งเป็นสมาคมวิชาการพุทธเถรวาทได้ มีการออกวารสารวิชาการพุทธเถรวาทเป็นประจำทุกปี และสามารถแปลพระไตรปิฎกบาลีทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่นเสร็จบริบูรณ์และตีพิมพ์ออกเผยแพร่ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ประเทศไทยจะแปลพระไตรปิฎกบาลีออกมาเป็นภาษาไทยเสียอีก
ปัจจุบันการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาระดับสูงในสหรัฐอเมริกาและยุโรปซบเซาลงด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จนมีผู้มองกันว่าอนาคตของการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาจะอยู่ที่ประเทศพุทธ ความหวังของการศึกษาวิจัยทางพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงเบนเข็มมาอยู่ที่ประเทศไทย
พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ท่านได้ส่งพระภิกษุไปศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาสมัยใหม่ทั้งทางตะวันออกและตะวันตกมาเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว อาตมภาพก็ได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโทและเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกแล้ว การเรียนลงตัวในระดับหนึ่ง จึงได้สร้างวัดไทยในญี่ปุ่นคู่ขนานไปกับการศึกษาด้วย และได้ชักชวนทั้งพระภิกษุและอุบาสกอุบาสิกา อีกหลายสิบท่านไปช่วยงานวัดและศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศจีน จนกระทั่งมีทีมงานที่ศึกษาต่อด้านพระพุทธศาสนาจนจบระดับปริญญาเอก 10 กว่าท่าน และได้ส่งให้ไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในสหรัฐอเมริกาบ้าง ยุโรปบ้าง เพื่อให้เห็นภาพการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาในหลาย ๆ ทวีป จะได้มีโลกทัศน์กว้างขวาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาระดับสูงในประเทศไทยของเรา
วารสารทางวิชาการฉบับนี้เกิดขึ้นจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ได้รวมตัวกันปรึกษาหารือและนำเสนอ อาตมภาพจึงรับเป็นบรรณาธิการช่วยตรวจบทความต่าง ๆ ให้ และต้องขออนุโมทนาขอบคุณศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ที่ช่วยอ่านงานในส่วนของอาตมภาพเอง คณะทำงานก็ตั้งใจทุ่มเททำอย่างดีที่สุด แต่เนื่องจากเป็นฉบับแรกก็คงมีข้อบกพร่องต่าง ๆ ไม่น้อย หวังว่าท่านผู้รู้จะช่วยให้คำแนะนำ เพื่อจะ ได้ปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นในฉบับต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเปิดรับบทความจากนักวิชาการทุกสถาบัน
เนื้อหาในวารสารทางวิชาการฉบับนี้ จะเน้นหนักไปทางการศึกษาวิจัยเชิงคัมภีร์เพื่อให้เห็นรูปแบบและประโยชน์ของการวิจัยโดยใช้ข้อมูลจากคัมภีร์ต่าง ๆ หลายแหล่ง ถือเป็นการ “โยนหินล่อหยก” เพื่อท่านผู้รู้ทั้งหลายจะได้ออกมาช่วยกันชี้แนะและนำเสนอบทความที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นการพัฒนาการศึกษาวิจัยพระพุทธศาสนาระดับสูงในประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทของโลกได้จริงทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ จนนำไปสู่ปฏิเวธคือ ความสงบร่มเย็นของสังคมไทย สังคมโลก และการบรรลุพระนิพพานในที่สุด
0004141 | 294.307 ส00096ว 2558 | ห้องสมุดบัณฑิณศึกษา DCIGS (อาคาร 1 ชั้น 3) | พร้อมให้บริการ |
No other version available